วิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
1. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สุนัขหรือสัตว์ที่มีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า
2. ระวังอย่าให้ถูกสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงกัดหรือข่วน และผู้ปกครองควรระวังอย่าให้เด็กเล่นกับสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิดจนเกินไป โดยเฉพาะการกอดจูบสุนัข
3. เมื่อพบสุนัขควรอยู่นิ่ง ๆ ไม่ร้องเสียงดัง เพราะจะยิ่งไปกระตุ้นให้สุนัขอยากไล่ล่าเพราะคิดว่าเป็นเหยื่อ (หากจำเป็นต้องเดินผ่านที่ที่มีสุนัขดุ ให้ถือไม้ยาว ๆ ไว้ในมือ หากสุนัขวิ่งมาหาอย่าวิ่งหนี แต่ให้ทำท่ายกไม้ปรามเอาไว้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรามีอำนาจเหนือกว่า แล้วมันจะวิ่งหนีไปเอง แต่ต้องคอยมองอย่าให้มันกลับมาเล่นทีเผลอไว้ด้วย)
4. ไม่วิ่งหรือขี่จักรยานผ่านสุนัขอย่างรวดเร็ว เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้สุนัขวิ่งไล่กัด (สุนัขเป็นสัตว์ที่ชอบวิ่งไล่ตามวัตถุที่เคลื่อนที่ และสุนัขวิ่งได้เร็วกว่ามนุษย์ เราจึงไม่ควรให้สุนัขวิ่งไล่)
5. ไม่แหย่หรือรบกวนสุนัขในขณะที่สุนัขกำลังกินอาหารหรือนอนหลับ
6. ไม่เล่นแหย่หรือทำร้ายสุนัขเพื่อความสนุกสนาน
7. ผู้ปกครองไม่ควรซื้อสุนัขให้เด็กเลี้ยง ถ้าเด็กยังไม่โตพอที่จะดูแลสุนัขได้ (ปกติเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี มักจะยังไม่สามารถดูแลสุนัขได้อย่างปลอดภัย)
8. ไม่ควรกักขังสุนัขไว้โดยการผูกเชือกหรือล่ามโซ่ตลอดเวลา เพราะจะทำให้สุนัขมีนิสัยดุร้าย
9. ผู้ที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว กระรอก กระต่าย หนู ลิง ฯลฯ ควรพาสัตว์เลี้ยงไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าตามที่สัตวแพทย์กำหนด
10. อย่าปล่อยให้สัตว์เลี้ยงมีลูกมาก และผู้เลี้ยงควรทำหมันสุนัขทั้งตัวผู้และตัวเมีย
11. สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ เช่น หมู วัว ควาย แกะ แพะ ม้า แม้ว่าจะพบโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เหล่านี้ได้บ้าง แต่ก็ไม่พบว่ามีความสำคัญในการนำโรคมาสู่คนได้ จึงไม่จำเป็นต้องพาสัตว์ไปฉีดวัคซีน แต่ถ้าคนถูกสัตว์เหล่านี้กัดก็ต้องไปรับการฉีดวัคซีน
12. ผู้ที่เสี่ยงหรือทำงานที่เสี่ยงต่อการติดโรคนี้ เช่น ผู้ที่ดูแลสัตว์หรือสัมผัสสัตว์ เด็กที่ชอบเล่นกับสุนัข ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์ ผู้ที่เพาะสัตว์เลี้ยงขาย ร้านขายสัตว์เลี้ยง บุรุษไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่กำจัดสุนัขและแมวจรจัด เจ้าหน้าที่บ้านสงเคราะห์สัตว์พิการเร่ร่อนต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่ทำงานเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า สัตวแพทย์ ผู้ช่วยสัตวแพทย์ แพทย์และพยาบาลที่พบผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าบ่อย ๆ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้และเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาด เป็นต้น
ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า (Pre-exposure prophylaxis) ก่อนถูกกัด
-โดยการฉีดวัคซีน HDCV หรือ PCECV 1 มิลลิลิตร หรือ PVRV 0.5 มิลลิลิตร เข้ากล้ามเนื้อต้นแขนจำนวน 1 เข็ม
-หรือฉีดวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งขนาด 0.1 มิลลิลิตร เข้าในชั้นผิวหนัง 1 จุด บริเวณต้นแขน ในวันที่ 0, 7 และ 21 (หรือ 28) เมื่อฉีดครบ 3 เข็ม
-แล้วให้ถือว่าครบวัคซีนชุดแรก (Primary vaccination)
......และภายหลังการได้รับวัคซีนชุดแรกครบ 1 ปีแล้ว ให้ทำการฉีดกระตุ้นซ้ำอีก 1 เข็ม
......จากนั้นให้กระตุ้นซ้ำทุก ๆ 5 ปี
***คนกลุ่มนี้ถ้าถูกสัตว์ที่เป็นโรคหรือสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ควรฉีดวัคซีนกระตุ้น 2 ครั้ง ในวันที่ 0 และ 3
***ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าสูง หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้าครบ 3 เข็มแล้ว ควรตรวจเลือดดูระดับภูมิต้านทานทุก 6 เดือน หรือทุก 1-2 ปี ถ้าพบว่ามีระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปลอดภัย (ต่ำกว่า 0.5 ยูนิต/มิลลิลิตร) ก็ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำ ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
IMAGE SOURCE : www.startribune.com หมายเหตุ : ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบหลังสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า (ถูกสัตว์กัดหรือข่วน) มาแล้ว 3 ครั้ง เช่น ได้รับการฉีดในวันที่ 0, 3, 7 และหยุดฉีดภายหลังสังเกตสุนัขหรือแมว 10 วันแล้วพบว่าเป็นปกติ ให้ถือเสมือนว่าเป็นการฉีดป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า
คำแนะนำและข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า
- เมื่อถูกสัตว์ที่เป็นโรคหรือสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือสัมผัสใกล้ชิด ควรรีบฟอกล้างแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ทันที แล้วรีบไปที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทันทีเพื่อรับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง รวมทั้งฉีดยาป้องกัน ผู้ป่วยไม่ควรรักษาด้วยตนเองโดยใช้วิธีพื้นบ้านหรือปล่อยปละละเลยไม่ไปรักษาเป็นอันขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกลูกสุนัขหรือแมวกัดหรือข่วน ก็ไม่ควรประมาทว่าจะไม่เป็นอะไร
- ในบางครั้งพบว่าหลังจากถูกสัตว์กัดหรือข่วน แม้จะไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็ไม่เห็นเป็นอะไรหรือมีอันตรายใด ๆ ก็อาจทำให้เกิดความประมาทได้ แต่ความจริงแล้วผู้ที่ถูกสัตว์กัดหรือข่วน ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคนี้กันทุกราย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสัตว์ที่กัดไม่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า หรืออาจได้รับเชื้อเพียงจำนวนน้อย หรือบาดแผลมีความรุนแรงน้อยจนไม่ทำให้เกิดโรคก็เป็นได้
- ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า (Pre-exposure prophylaxis) คือ หากถูกสัตว์กัด การฉีดวัคซีนกระตุ้นอีกเพียง 1-2 เข็ม ร่างกายก็จะมีภูมิต้านทานที่สูงพอในการป้องกันโรคอย่างได้ผล รวมทั้งไม่เสี่ยงต่อการแพ้หรือเจ็บปวดบริเวณแผลจากการฉีดอิมมูนโกลบูลิน
- แม้จะยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าโรคนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้อย่างชัดเจน แต่ก็มีรายงานพบผู้ป่วยที่ติดโรคนี้จากการปลูกถ่ายกระจกตาหรืออวัยวะ ดังนั้น เมื่อมีการสัมผัสกับผู้ป่วย เช่น ถูกผู้ป่วยกัด เยื่อบุหรือบาดแผลไปสัมผัสถูกสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วย ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาฉีดยาป้องกันแบบเดียวกับการสัมผัสโรคจากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
- โรคนี้ถ้ามีอาการแสดงแล้ว (เชื้อพิษสุนัขบ้าเข้าสู่เส้นประสาทส่วนปลายได้แล้ว) ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตทุกราย เพราะในปัจจุบันยังไม่มียาตัวไหนหรือวิธีรักษาใดที่จะฆ่าเชื้อไวรัสหรือรักษาให้หายได้ (แม้ว่าแพทย์จะให้การดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดีในห้องไอซียู (ICU) ก็ตาม และแม้จะเคยมีรายงานว่ามีผู้ป่วยที่รอดชีวิต
แต่ที่ผ่านมาทั่วโลกก็มีผู้ป่วยที่รอดชีวิตเพียง 6 รายเท่านั้น โดยใน 5 รายนั้นมีประวัติว่าได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน ส่วนอีก 1 รายไม่เคยได้รับวัคซีน แต่ติดเชื้อมาจากค้างคาว ด้วยเหตุนี้จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า เชื้อพิษสุนัขบ้าสายพันธุ์ที่มีอยู่ในค้างคาวอาจก่อโรคได้ไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ที่มีอยู่ในสุนัข)
และประกอบกับการที่ผู้ป่วยในบ้านเรามักจะไม่ได้รับการฉีดยาป้องกันโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เป็นส่วนใหญ่ อัตราการเสียชีวิตจึงคิดเป็น 100%
- หญิงตั้งครรภ์สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและอิมมูนโกลบูลินได้โดยไม่มีผลข้างเคียงกับทารกในครรภ์
- วันที่ 28 กันยายน ของทุกปี คือ “วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า” ซึ่งในวันดังกล่าวจะมีการจัดงานและรณรงค์ให้ความรู้เรื่องพิษสุนัขบ้ากันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ทั้งนี้เพื่อเป็นการรำลึกและเป็นเกียรติแก่ หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) ซึ่งเป็นผู้คิดค้นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่เสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2438
- โรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่เฉพาะหน้าร้อนอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ใช่เกิดจากความเครียดที่มาจากความร้อน
- ผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้ส่วนใหญ่เป็นเพราะถูกกัดโดยสุนัขจรจัดหรือสุนัขที่มีเจ้าของแต่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จากสถิติพบว่า ผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าจะเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
- กว่า 90% ของผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้ เป็นเพราะผู้ป่วยไม่ไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนหลังจากถูกสัตว์กัด
- โปรดทราบว่า “การช่วยเหลือสุนัขจรจัดโดยการให้อาหาร แต่ไม่นำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและคุมกำเนิด จะเป็นการเพิ่มจำนวนสุนัขจรจัดและแพร่กระจายโรคพิษสุนัขบ้า”
- ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าที่พบบ่อย เช่น โรคพิษสุนัขบ้าเป็นเฉพาะในสุนัขเท่านั้น, หลังถูกกัดให้รดน้ำมนต์จะช่วยรักษาโรคนี้ได้, เมื่อถูกสุนัขกัดให้ตัดหูตัดหางสุนัขจะช่วยให้สุนัขไม่เป็นโรคนี้, เมื่อถูกสุนัขกัดให้ฆ่าสุนัขให้ตายแล้วเอาตับสุนัขมากินจะไม่ป่วยเป็นโรคนี้, คนท้องห้ามฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า, วัคซีนพิษสุนัขบ้าที่ฉีดรอบสะดือ 14 เข็ม หรือ 21 เข็ม ถ้าหยุดฉีดต้องเริ่มใหม่ ฯลฯ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้จะทำให้ผู้ที่ถูกสุนัขที่มีเชื้อกัดไม่ไปพบแพทย์เพื่อฉีดยาป้องกันและทำให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา
หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ โทร 02-653-4444 ต่อ 4145
~เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (MedThai)